ธรรมเนียมการเฉลิมพระปรมาภิไธยในราชวงศ์จักรี ของ พระปรมาภิไธย (พระมหากษัตริย์ไทย)

แบบแผนพระปรมาภิไธยซึ่งใช้มาแต่เดิม

แต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีรัชกาลที่ 1-3 นั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล ราษฎรจึงต้องสมมตินามแผ่นดินเอาเองเมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ 3 ราษฎรได้เรียกนามแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ว่า "แผ่นดินต้น" รัชกาลที่ 2 ว่า "แผ่นดินกลาง" รัชกาลที่ 3 ว่า "แผ่นดินนี้" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรดการออกนามแผ่นดินดังกล่าว เนื่องจากทรงเกรงว่าต่อไปราษฎรจะเรียกรัชกาลของพระองค์ว่า "แผ่นดินปลาย" หรือ "แผ่นดินสุดท้าย" อันเป็นอัปมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์สองรัชกาลแรก ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" อุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชรัชกาลที่ 1 และอีกองค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธเลิศหล้าสุราไลย" (ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ถวายสร้อยพระนามใหม่ว่า "พระพุทธเลิศหล้านภาไลย") อุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ 2 และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาลตามนามพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้[2]

การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม และพระนาม "ปรมินทร-ปรเมนทร"

พระพุทธรูปฉลองพระองค์
พระมหากษัตริย์สองรัชกาลแรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระพุทธเลิศหล้านภาไลย
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชดำริว่าพระนามของพระมหากษัตริย์สืบไปภายหน้าควรใช้แตกต่างกันทุกรัชกาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการออกนามแผ่นดินเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงทรงถวายพระนามแก่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์รัชกาลก่อนหน้าพระองค์ทั้งสามรัชกาลดังนี้[3]

นอกจากนี้ยังทรงกำหนดหลักการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามลำดับรัชกาล โดยรัชกาลที่เป็นเลขคี่ให้ใช้คำว่า "ปรมินทร" รัชกาลเลขคู่ให้ใช้คำว่า "ปรเมนทร" เป็นเครื่องหมายสังเกต พระนามพระมหากษัตริย์ไทยตามหลักพระราชนิยมดังกล่าวตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมามีดังนี้

พระนาม "รามาธิบดีศรีสินทร"

พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 1-8 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้คำนำหน้าพระนามว่า "รามาธิบดีศรีสินทร" ทุกรัชกาล เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459[6] ดังนี้

  • รัชกาลที่ 1: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
  • รัชกาลที่ 2: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
  • รัชกาลที่ 3: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฏาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3
  • รัชกาลที่ 4: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4
  • รัชกาลที่ 5: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5
  • รัชกาลที่ 6: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6

ส่วนในภาคภาษาอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "Rama" แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลแบบเลขโรมันตามธรรมเนียมยุโรป

แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงประกาศให้การใช้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์กลับไปเป็นตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 เช่นเดิม เว้นแต่พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงใช้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "Rama" ในภาคภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลเพื่อสื่อถึงพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

การเฉลิมพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 10

สำหรับพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[7] ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"[8] นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้หลักพระราชนิยม "ปรมินทร-ปรเมนทร" ในรัชกาลที่ 4 และหลักพระราชนิยม "รามาธิบดีศรีสินทร" ในรัชกาลที่ 6 ร่วมกัน

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยบูรพกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ดังนี้

  1. เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" เพื่อสนองพระเดชพระคุณ ถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งตรงกับวันประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระบรมชนกนาถ [9]
  2. เฉลิมพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและถวายพระราชสมัญญานามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช" เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระปรมาภิไธย (พระมหากษัตริย์ไทย) http://vajirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%... http://vajirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%... http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=... http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/B/...